ติดต่อเรา

ที่อยู่ : ตู้ ปณ. 9 ปท.ปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา 30130

Email : khaoyai.np@gmail.com

 

ด่านเก็บค่าบริการเนินหอม

090-728-1929


ด่านเก็บค่าบริการศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่

086-092-6531


ที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

086-092-6527


ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ฝ่ายนันทนาการและบ้านพัก

086-092-6529
 


บริการส่องสัตว์

081-063-9241


ฝ่ายวิชาการ

093-353-4350

คำถามที่พบบ่อย

ข้อมูลทั่วไป

ข้อมูลที่พัก

ข้อมูลกิจกรรม

ข้อมูลในสถานการณ์ COVID-19

เขาใหญ่ไปทางไหนได้บ้าง?

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่สามารถขึ้นได้ 2 เส้นทางคือ 
เส้นทางฝั่งด่านตรวจศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่(ปากช่อง นครราชสีมา) หรือ เส้นทางฝั่งด่านตรวจเนินหอม (ปราจีนบุรี) 
รายละเอียดเพิ่มเติม

ตอนนี้สภาพอากาศเป็นอย่างไรบ้าง?

เวลาเปิดทำการ?

ด่านตรวจเก็บค่าบริการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ นักท่องเที่ยวสามารถสัญจร เข้า-ออก ได้ตั้งแต่เวลา 06.00 น.-18.00 น. 

หมายเหตุ: บัตรที่ซื้อ 1 ใบ สามารถใช้แสดงการเข้า - ออกอุทยานแห่งชาติฯ ภายในวันเดียวกันได้ 

ค่าบริการสำหรับบุคคลและพาหนะเท่าไร?

เข้าเขาใหญ่เสียค่าพาหนะมั้ย?

ค่าบริการประเภทยานพาหนะ 

  • รถจักรยานยนต์    คันละ       20    บาท
  • รถยนต์ 4 ล้อ    คันละ          30    บาท
  • รถยนต์ 6 ล้อ    คันละ        100    บาท
  • รถยนต์ มากกว่า 6 ล้อ     
    แต่ไม่เกิน 10 ล้อ คันละ     200    บาท
     
    * อัตราค่าบริการหรือค่าตอบแทนในการให้บริการและการอำนวยความสะดวกในอุทยานแห่งชาตินี้มีผลตั้งแต่ วันที่ 7 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป
     

หมายเหตุ: 

  1. รถยนต์มากกว่า 6 ล้อขึ้นไป หรือรถยนต์ 2 ชั้น หรือรถยนต์ที่มีความสูงมากกว่า  3.50 เมตร ไม่อนุญาตให้ผ่านเข้าไปในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 

  2. รถทัวร์ขนาดเล็กสามารถขึ้นได้เฉพาะ ทางเข้าด่านตรวจเนินหอม ฝั่งปราจีนบุรีเท่านั้น ด่านตรวจศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ฝั่งปากช่อง(นครราชสีมา) ไม่อนุญาตให้ขึ้นเนื่องจากเส้นทางค่อนข้างชันและอาจเกิดอันตรายได้ค่ะ

รถแต่งขึ้นได้ไหม?

ขึ้นได้ แต่ต้องไม่สร้างควันดำและความดังยานพาหนะที่สามารถผ่านเข้าอุทยานฯ ได้ ต้องมีความดังไม่เกิน 95 เดซิเบล

เบอร์โทรติดต่อประสานงานฝ่ายและส่วนต่างๆ ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่?

  • ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว       
    หมายเลขโทรศัพท์       086-0926529  
  • ฝ่ายบริหารทั่วไป       
    หมายเลขโทรศัพท์       086-0926527  
  • ฝ่ายวิชาการ       
    หมายเลขโทรศัพท์       093-3534350  
  • ฝ่ายอนุรักษ์ทรัพยากร       
    หมายเลขโทรศัพท์       082-5395753  
  • ด่านตรวจศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ (ปากช่อง นครราชสีมา)       
    หมายเลขโทรศัพท์       086-0926531   
  • ด่านตรวจเนินหอม (ปราจีนบุรี/นครนายก)       
    หมายเลขโทรศัพท์       090-7821929  

จะไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

เตรียมตัวให้พร้อม

  • เตรียมตัวและร่างกายให้พร้อม

  • ศึกษาเส้นทางก่อนการเดินทาง

  • ตรวจสภาพความพร้อมของรถยนต์

  • ศึกษาเบอร์โทรฉุกเฉินเตรียมไว้เมื่อจำเป็น

 

ท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย

  • ปฏิบัติตามคำเตือนและข้อบังคับตามป้ายต่างๆ ภายในอุทยาน

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อุทยาน

  • ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19

 

ขับขี่ปลอดภัย

  • ปฏิบัติตามกฎจราจร

  • ง่วงนอน จอดพัก

  • มีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมทาง

ไปพักที่เขาใหญ่มีข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติในอุทยานแห่งชาติอย่างไร?

ข้อปฏิบัติทั่วไปภายในอุทยานแห่งชาติ

133311053_4308428149183757_9147524463792770977_n.jpg

ข้อปฏิบัติเมื่อพักในอุทยานแห่งชาติ

           

ประเภทบ้านพัก

  1. คืนกุญแจก่อนเวลา 11.00 น.
  2. ไม่ส่งเสียงดังรบกวนผู้พักรายอื่น
  3. ไม่เล่นการพนันและเสพยาเสพติด
  4. ไม่ประกอบอาหารในบ้านและบริเวณบ้าน เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม
  5. ไม่เล่นดนตรีทุกชนิด
  6. ห้ามให้อาหารสัตว์ทุกชนิด
  7. ห้ามกางเต็นท์บริเวณบ้านพัก

การไม่ปฏิบัติเป็นความผิด อาจถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504

 

ประเภทเต็นท์

ข้อแนะนำในการกางเต็นท์พักแรม

  1. ควรเลือกสถานที่กางเต็นท์ไว้ล่วงหน้าก่อนการเดินทาง โดยปกติแล้วเลือกพื้นที่ที่เคยใช้ตั้งแคมป์มาแล้ว เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ขยายพื้นที่ตั้งแคมป์ออกไปอีก และหากเป็นการเดินทางครั้งแรกควรหัดกางเต็นท์ให้เป็นเสียก่อนที่จะเดินทาง มิฉะนั้นอาจเสียเวลากางเต็นท์เป็นชั่วโมง หาที่กางเต็นท์ให้ได้ก่อนพระอาทิตย์ตกดินอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อจะได้มีเวลากางเต็นท์ก่อนที่จะมืด
  2. เลือกพื้นที่ตั้งแคมป์ที่มีแหล่งน้ำไหลผ่านเพียงพอและใช้พลาสติปูรองเต็นท์ เพื่อให้พื้นแห้งโดยไม่ต้องขุดร่องระบายน้ำรอบเต็นท์ แต่ให้ตั้งเต็นท์ห่างจากแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างน้อย 100 ฟุต
  3. อย่ากางเต็นท์ใต้ต้นไม้ใหญ่เพราถ้าฝนตกกิ่งไม้อาจหักลงมาหรือหากเกิดพายุฝนฟ้าคะนองอาจมีอันตรายจากฟ้าผ่าลงกลางต้นไม้ ดังนั้นควรหาทำเลใต้ร่มเงาไม้ที่ไม่ใหญ่นัก และอยู่ห่างจากต้นไม้สูงๆ โดยคาดคะเนว่าหากไม้ใหญ่ล้ม เต็นท์จะอยู่ห่างจากรัศมีกิ่งไม้ของไม้ที่ล้มลงมา
  4. อย่ากางเต็นท์ในที่โล่ง พยายามกางเต็นท์ใต้ลมบริเวณที่มีต้นไม้ เพราถ้ามีลมแรง ลมอาจหอบเอาเต็นท์ปลิวไปทั้งหลัง
  5. ไม่ควรกางเต็นท์อยู่บริเวณชายเขา เพราหากฝนตกหนัก น้ำจะไหลผ่านและถ้าหากน้ำเกิดไหลไม่หยุดจะมีน้ำมากจนเกิดอันตรายได้
  6. อย่ากางเต็นท์ในทางน้ำไหลหรือลำธารที่แห้งแล้งเด็ดขาด เพราะเมื่อฝนตกไหลบ่าลงลำธาร อาจจะเกิดน้ำไหลเต็มภายในไม่กี่นาที
  7. อย่ากางเต็นท์บริเวณที่มีหญ้ารกหรือน้ำเฉอะแฉะ เพราอาจเป็นที่อยู่อาศัยของยุงและแมลง
  8. ก่อนกางเต็นท์ควรสังเกตพื้นที่บริเวณนั้นว่าเป็นทางเดินของสัตว์หรือด่านสัตว์หรือเปล่า โดยสังเกตจากรอยเท้าในบริเวณนั้น ถ้าหากคิดว่าไม่ปลอดภัยควรหลีกเลี่ยง
  9. หากจำเป็นจะต้องกางเต็นท์ในบริเวณที่ขรุขระ ควรนำใบไม้ใบหญ้ามารองป้องการการเจ็บหลัง
  10. การกางเต็นท์ในฤดูฝน จะต้องกางฟลายชีทและขุดร่องระบายน้ำรอบตัวเต็นท์ไว้ด้วย
  11. ควรระวังสัตว์มีพิษต่างๆ พวกงู แมงป่อง ตะขาบ ซึ่งจะหาที่แห้งอยู่ตามในเต็นท์ ถุงนอน หรือรองเท้าที่ไม่ได้เก็บอย่างมิชิด ดังนั้น ก่อนสวมใส่หรือใช้งานควรตรวจตราให้ดี ถ้ามียากันแมลงหรือปูนขาวให้โรยไว้รอบเต็นท์

ที่มา : สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ถ้าเจอช้างป่า ต้องทำอย่างไร?

ปกติช้างจะวิ่งไล่ผู้รบกวนเป็นระยะทางสั้นๆ เพียง 2–3 ครั้ง หากวิ่งตามผู้รบกวนไม่ทันก็จะเลิกวิ่งไล่ ไปเอง ช้างเมื่ออารมณ์ดี สังเกตจากการแกว่งหู และสะบัดหางไปมา จะไม่ทำร้ายแม้รถจะวิ่งเข้ามาใกล้ก็ตาม  แต่หากช้างโกรธหรือไม่ไว้ใจสิ่งใด เช่น ช้างแม่ลูกอ่อน อาจตรงเข้าทำร้ายผู้รบกวนได้ในระยะไกล จึงพึงสังเกตอารมณ์ และอาการของช้างไว้ประกอบการตัดสินใจด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อเกิดเหตุที่รถติดเป็นจำนวนมาก หรือช้างเกิดความเครียดจากการสังเกตตามข้อแนะนำข้างต้น ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ๆ จะรีบเจ้ามาทำการอารักขาช้างป่า ซึ่งไม่ใช่การไล่ช้างป่า 

วิธีสังเกตุอารมณ์ของช้างอย่างง่ายๆ  

เมื่ออารมณ์ดีหูจะสะบัดไปมา หางจะแกว่งและใช้งวงสะบัดไปมา หรือเกี่ยวดึงต้นไม้กิน ไม่ค่อยสนใจเรา 

เมื่ออารมณ์ไม่ดีหูจะตั้งกาง ไม่สะบัดหาง หางชี้ งวงจะนิ่งแข็ง แตะอยู่ที่พื้น หรือใช้งวงตี พื้น และอยู่นิ่งจ้องมองมาทางเรา  

 

ข้อควรปฎิบัติเมื่อพบช้างป่า คลิก  

 

ข้อควรปฏิบัติเมื่อเจอช้างป่าขณะขับรถ

  1. หยุดรถให้ห่างจากช้างอย่างน้อย 30 เมตร หากช้างเดินเข้าหา ให้เคลื่อนรถหนีด้วยการถอยหลังอย่างมีสติ รอจนกว่าช้างจะหลบจากถนน จึงเคลื่อนรถผ่านไป
  2. อย่าใช้แตรรถ หรือส่งเสียงดังรบกวนช้างหรือไล่ช้าง เพราะอาจทำให้ช้างโกรธ และตรงเข้ามาหาเราได้ เนื่องจากช้างป่า ประสาทหูจะดีมาก เสียงแตรแหลมๆ จะทำให้ช้างตกใจและโกรธ
  3. งดการใช้แฟลชถ่ายรูป เพราะอาจทำให้ช้างตกใจ ตรงเข้ามาทำร้ายได้ และทำให้ช้างเกิดการสนใจเดินเข้ามาหา เพราะช้างตกใจแล้วตกใจเลย หายยาก
  4. ให้ติดเครื่องรถยนต์ไว้เสมอ เพื่อให้สามารถเคลื่อนรถหนีได้ทันท่วงที และเสียงเครื่องยนต์รถที่ติดเครื่องดังทุ้มๆ จะไม่ทำให้ช้างนั้นตกใจ ไม่เครียด และคุ้นเคย เพราะได้ยินเสียงและรู้ว่านี่คือรถยนต์
  5. หากพบช้างในเวลากลางคืน ให้เปิดไฟรถไว้เสมอ เพื่อให้สามารถสังเกตอาการของช้างและระยะห่างระหว่างรถกับช้างได้โดยสะดวก ห้ามเปิดกะพริบ เพราะแสงจะเข้าตา และดึงดูดให้ช้างเกิดความสนใจ เดินเข้ามาหา
  6. ประสาทสัมผัสของช้างที่ดีที่สุดคือ หู จมูก และตา ถ้าดับเครื่องยนต์ ช้างจะเข้าใกล้เพื่อใช้ประสาทสัมผัสอย่างอื่น นั่นคือการดม ดู และสัมผัส นั่นหมายถึง ช้างเข้ามาหาแล้ว เขาแค่แตะๆ แต่ด้วยกำลังมหาศาล รถก็เสียหายได้
  7. เมื่อตกอยู่ในวงล้อมของช้าง ตั้งสติให้มั่น หากเป็นเวลากลางคืน ให้ใช้ไฟต่ำ และอย่าเปิดกะพริบ แล้วเลือกเคลื่อนรถไปในทางที่มีช้างอยู่น้อย แม้บางครั้งจำเป็นต้องเข้าใกล้หรือเบียดโขลงช้างไปก็ตาม อย่าดับเครื่องยนต์ และปิดไฟรถเป็นอันขาด ค่อยๆเคลื่อนรถ ให้เสียงเครื่องยนต์นิ่งมากที่สุด
  8. ไม่ควรจอดรถดูช้าง เพราะอาจมีรถคันอื่นตามมา แล้วรถของคุณกีดขวางรถผู้อื่น จนเป็นเหตุให้ถูกทำร้ายแทนรถ
  9. สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งเมื่อรถจอดเรียงกันบนถนน ความสามัคคีจะต้องเกิดขึ้น ไม่ว่าคันที่อยู่ใกล้ช้างหรืออยู่ไกลช้างก็ล้วนเป็นผู้ประสบเหตุทั้งสิ้น ดังนั้นหากรถคันหน้าเปิดไปถอยรถ คันข้างหลังถัดไปก็ให้ถอยรถอย่างมีสติ
  10. ไม่ควรจอดรถแล้วลงไปถ่ายรูปช้างในระยะใกล้ เพราะอาจทำให้คุณวิ่งหนีขึ้นรถไม่ทัน ควรระลึกอยู่เสมอๆ ว่า โดยทั่วไปช้างมักจะอยู่รวมกันเป็นครอบครัวหรือฝูง

ขณะที่คุณเจอช้างเพียงตัวเดียว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีช้างตัวอื่นๆ อยู่ในบริเวณนั้น ฝูงช้างอาจจะกระจายกันหากินอยู่ในบริเวณป่าข้างๆทางนั้นก็เป็นได้ และวินาทีที่เขาจะเข้ามาหานั้น เร็วมาก

ที่มา :  สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขายมั้ย?

ห้ามเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เหตุผลที่ไม่ให้นำเข้ามา

  1. คนดื่มกิน พอเมาได้ที่ ก็จะเริ่มเสียงดังรบกวนเต็นท์อื่นๆ  
  2. อาจเกิดการทะเลาะวิวาทกัน
  3. ดื่มเสร็จอาจทิ้งไว้ทำให้ดูสกปรก 
  4. ขวด กระป๋อง ฝาที่บรรจุเครื่องดื่มเหล่านั้น อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวท่านอื่นแล สัตว์ป่า เช่น เหยียบฝาขวดหรือเศษขวด สัตว์ป่ามารื้อค้นคิดว่าอาหารทำให้กระป๋องติดปาก ติดตีนของสัตว์ป่า ทำให้บาดเจ็บและล้มตาย  

หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบนักท่องเที่ยวจะถูกทั้งจำและปรับ ดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติ อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 

ทำไมไม่ควรนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาในอุทยาน?

เพราะสัตว์เลี้ยงอาจจะนำโรคเข้าไปแพร่ในธรรมชาติหรือตรงกันข้ามสัตว์เลี้ยงของคุณก็อาจจะรับโรคติดต่อจากสัตว์ป่าภายในออกมาได้เช่นกัน

ทำไมถึงไม่ควรให้อาหารสัตว์ป่า?

เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและนิเวศวิทยาของสัตว์ป่า อีกทั้งอาจเกิดความเสี่ยงในการถ่ายทอดเชื้อโรคระหว่างคนและสัตว์ป่าอีกด้วย และที่ร้ายแรงไปกว่านั้น คุณอาจโดน สัตว์ป่าทำร้าย หรือทำให้ทรัพย์สินเสียหาย 

การให้อาหารสัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562

จะไปพักกางเต็นท์จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ค่าเช่าอะไรบ้าง

1. จะต้องชำระค่าบริการประเภทบุคคลและประเภทยานพาหนะ (ถ้ามี) ที่หน้าด่านทั้ง 2 ด่าน

ค่าบริการประเภทบุคคล

  • ค่าบริการนักท่องเที่ยวชาวไทย 

เด็ก             20    บาท 
ผู้ใหญ่         40    บาท 
ผู้สูงอายุและผู้พิการ ไม่เสียค่าบริการเข้าอุทยานฯ 

  • ค่าบริการนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 

เด็ก                                        200     บาท 
ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และผู้พิการ     400     บาท 


ค่าบริการประเภทยานพาหนะ 

  • รถจักรยานยนต์                      คันละ         30       บาท 
  • รถยนต์ 4 ล้อ                         คันละ         50       บาท
  • รถบัสเล็ก ไม่เกิน 24 ที่นั่ง       คันละ         100     บาท  
  • รถบัสใหญ่ 24 ที่นั่งขึ้นไป       คันละ         200      บาท  
  • รถยนต์โดยสาร 6 ล้อ 4 ตัน     คันละ         300      บาท   

        

2. ชำระค่าธรรมเนียมการเช่าพื้นที่กางเต็นท์ผ่านช่องทางออนไลน์ หรือที่ลานกางเต็นท์ที่ต้องการพักแรม    

ค่าธรรมเนียมการเช่าพื้นที่กางเต็นท์ 

  • เด็ก             10 บาท/คน/คืน 
  • ผู้ใหญ่         30 บาท/คน/คืน 
     

 

จองบ้านพักและจองเต็นท์อุทยานฯ อย่างไร?

กรุณาจองผ่านเว็บไซต์ของสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คลิก จองที่พัก

นำเต็นท์มาเองเสียค่าธรรมเนียมเท่าไร

หากนักท่องเที่ยวนำเต็นท์มาเอง จะเสียเพียงค่าธรรมเนียมกางเต็นท์เท่านั้น กรุณาจองและชำระผ่านระบบออนไลน์ หรือติดต่อที่ลานกางเต็นท์ที่ต้องการพักแรม    

  • เด็ก         10 บาท/คน/คืน  (อายุต่ำกว่า 14 ปี)
  • ผู้ใหญ่      30 บาท/คน/คืน  (อายุ 14 ปี ขึ้นไป)

ช่วงปีใหม่เปิดลานกางเต็นท์ไหนบ้าง

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีจุดให้บริการพักกางเต็นท์ค้างแรมช่วงปีใหม่ 2 ลานกางเต็นท์ ได้แก่ 

  • ลานกางเต็นท์ลำตะคอง       จำนวนที่รองรับ 800 คน 

หากลานกางเต็นท์หลักเต็ม จะเปิดให้บริการลานกางเต็นท์สำรอง คือ 

  • ลานกางเต็นท์สำรองจุดชมวิวเขาร่ม     จำนวนที่รองรับ 1,000 คน 

อยากขอเลื่อนวันเข้าพัก หรือขอคืนเงินต้องทำยังไง

หากนักท่องเที่ยวท่านใดมีความประสงค์เลื่อนวัน/ขอคืนเงินให้ติดต่อไปยังฝ่ายบ้านพักฯ ส่วนจัดการ ท่องเที่ยวและนันทนาการ สำนักอุทยานแห่งชาติได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 025620760 และ 025610777 ต่อ  1719 หรือ
นักท่องเที่ยวสามารถยื่นมาในระบบได้เลย ซึ่งหลักฐานที่ต้องแนบตอนยื่นในระบบ 

  1. หลักฐานการชำระเงิน 
  2. สำเนาหน้าเล่มธนาคารของผู้จองเท่านั้น  
     

นอกจากลานกางเต็นท์หลักแล้ว มีที่ไหนแนะนำอีกไหม

ลานกางเต็นท์หลักที่เปิดให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยว 2 แห่ง ได้แก่

  • ลานกางเต็นท์ลำตะคอง               580 คน 
  • ลานกางเต็นท์จุดชมวิวเขาร่ม        1,000 คน (สำรอง เปิดเฉพาะช่วงเทศกาล)

        

สถานที่กางเต็นท์ทางเลือกที่แนะนำ ดังนี้
    

  1. ลานกางเต็นท์ผากระดาษ
    ระยะทางห่างจากหน้าด่านศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่(ปากช่อง) 17 กิโลเมตร
  2. ลานกางเต็นท์ตะเคียนงาม
    ระยะทางห่างจากหน้าด่านศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่(ปากช่อง) 30 กิโลเมตร  
  3. ลานกางเต็นท์คลองปลากั้ง
    ระยะทางห่างจากหน้าด่านศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่(ปากช่อง) 57 กิโลเมตร  
  4. ลานกางเต็นท์เจ็ดคตโป่งก้อนเส้า
    ระยะทางห่างจากหน้าด่านศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่(ปากช่อง) 67 กิโลเมตร 
  5. ลานกางเต็นท์สามหลั่น
    ระยะทางห่างจากหน้าด่านศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่(ปากช่อง) 73 กิโลเมตร 
  6. ลานกางเต็นท์วังบอน
    ระยะทางห่างจากหน้าด่านเนินหอม(ปราจีนบุรี) 4.5 กิโลเมตร  
  7. ลานกางเต็นท์น้ำตกตะค้อ
    ระยะทางห่างจากหน้าด่านเนินหอม(ปราจีนบุรี) 36 กิโลเมตร 
     

จองเต็นท์ไว้เจ้าหน้าที่กางให้ไหม

คลิปวิดีโอวิธีการกางเต็นท์อุทยานแห่งชาติ สาธิตโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตามลิ้งค์ข้างล่างนี้เลย  คลิก

กิจกรรมที่น่าสนใจในอุทยานฯ มีอะไรบ้าง?

สถานที่ท่องเที่ยวภายในอุทยาน คลิก อ่านเพิ่มเติม
กิจกรรมที่น่าสนใจ คลิก อ่านเพิ่มเติม

สนใจกิจกรรมส่องสัตว์ในเวลากลางคืน

ผู้ที่สนใจกิจกรรมส่องสัตว์ต้องติดต่อที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเขาใหญ่หรือที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 

การติดต่อขอใช้บริการ

  1. จองและชำระค่าบริการที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ก่อนเวลา 18:00 น. ของวันที่ใช้บริการ โดยมีค่าค่าบริการ  600 บาท ต่อคัน (จำนวนที่รับได้ไม่เกิน 10 ท่าน) 
  2. เตรียมพร้อมบริเวณศูนย์บริการฯ เวลาประมาณ 18:50 น. 
  3. ออกเดินทางโดยรถกระบะ พร้อมไกด์ที่ถือไฟฉายแรงสูงนำชมสัตว์ป่าตามเส้นทางที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่กำหนด ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม     : ฝ่ายส่องสัตว์กลางคืน 086-0926529, 081-0639241

หมายเหตุ :  ห้ามนักท่องเที่ยวส่องสัตว์ด้วยตนเอง เพราะไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจเกิดอันตรายกับนักท่องเที่ยวได้หากพบเห็นจะดำเนินการปรับ 500 บาท  

แผนที่ท่องเที่ยวและเส้นทางศึกษาธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

contact_map.svg

ในสถานการณ์ COVID19 เขาใหญ่เปิดให้บริการมั้ย?

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ยังเปิดให้บริการตามปกติ แต่ต้องปฎิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัดตามมาตรการป้องกันเชื้อไวรัส covid-19 เช่น

  • ตรวจคัดกรองโดยเจ้าหน้าที่ที่หน้าด่าน
  • สวมหน้ากากอนามัย 
  • ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ 
  • เว้นระยะห่างระหว่างกัน 

นักท่องเที่ยวท่านใดที่เดินทางมาจากจังหวัดที่เป็น #เขตพื้นที่สีแดง ทางอุทยานฯ ไม่สามารถอนุญาตให้เข้าพื้นที่ได้ หรือหากนักท่องเที่ยวต้องการเข้ามาท่องเที่ยวจะต้องมีใบรับรองผลการตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 มาแสดงให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ทราบด้วย

สามารถติดตามประกาศได้ทาง Facebook 
 

 

ทางอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีมาตรการในสถานการณ์ COVID19 อย่างไร?

อย่าลืมป้องกันตนเองและผู้อื่นตามมาตรการป้องกันเชื้อไวรัส covid-19 ด้วย  ได้แก่ สวมหน้ากากอนามัย, ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์, เว้นระยะห่างระหว่างกัน

135759468_4330758833617355_2770036363148704092_n.jpg

อยากไปกางเต็นท์แต่กลัวโควิด

เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด 19 ทำให้การพักค้างแรมกางเต็นท์ต้องเว้นระยะห่าง ทางเจ้าหน้าที่ ผู้ดูแลลานกางเต็นท์จะจัดพื้นที่สำหรับกางเต็นท์ให้มีระยะห่าง 4*4 เมตร และปักหมุดให้นักท่องเที่ยวกางเต็นท์ สลับฟันปลาเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวทุกท่าน หรือสามารถโทรสอบถามได้ทางเบอร์โทรศัพท์ของศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

ติชมและข้อเสนอแนะ

เรามีความยินดีที่จะได้รับความเห็นของผู้มาเยือนทุกท่าน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานและการปรับปรุงการบริการให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้มาเยือนได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดจากการบริการของเรา
 

go to top