ป่าไม้ในอุทยาน

ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 200 ตร.กม. เป็นเขาสูงที่ตั้งอยู่ส่วนขอบของที่ราบสูงอีสาน ทำให้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นแนวดักน้ำฝน ทั้งลมมรสุมจากทะเลอันดามันและลมมรสุมจากทะเลจีนใต้ ทำให้มีฝนตกชุก ซึ่งพื้นที่ป่าส่วนใหญ่ในอุทยานประกอบด้วยทุ่งหญ้ากว้าง และป่าอันอุดมสมบูรณ์ ทั้งป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น และป่ารุ่นสอง ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของทั้งพันธุ์พืช และสัตว์ป่านานาชนิด

Area
61%
ป่าดิบแล้ง
840,000 ไร่ (1,351.66 ตร.กม.)
21%
ป่าเบญจพรรณ
287,000 ไร่ (459.84 ตร.กม.)
8.1%
ป่าดิบเขา
111,187 ไร่ (177.89 ตร.กม.)
4.3%
ป่าดิบชื้น
59,000 ไร่ (94.88 ตร.กม.)
3.7%
ทุ่งหญ้าและป่ารุ่นสอง
51,835 ไร่ (82.93 ตร.กม.)
Dry_Evergreen_Forest.jpg

ป่าดิบแล้ง (Dry Evergreen Forest)

อยู่ในระดับความสูง 200 - 600 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดของอุทยาน คือ 1,351.66 ตร.กม. คิดเป็นร้อยละ 61.7 ของพื้นที่ป่าทั้งหมด โครงสร้างของป่าดิบแล้งจะมีลักษณะคล้ายกับป่าดิบชื้น คือ เรือนยอดของป่าจะดูเขียวชอุ่มมาก แต่ต่างกันตรงที่ป่าดิบแล้งจะมีไม้ต้นผลัดใบ (deciduous tree) ขึ้นแทรกกระจายอยู่ ไม้ต้นที่พบโดยทั่วไป เช่น สมพง ปออีเก้ง สะเดาช้าง ตะแบกใหญ่ ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน พยอม ยางแดง ยางนา ยางปาย ตาเสือ ขี้หนอนควาย พืชจำพวกปาล์ม เช่น หมากลิง ลาน พืชชั้นล่างเช่น นกคุ้ม พวกขิงข่า และเตย เป็นต้น

Mixed_Deciduous_Forest.jpg

ป่าเบญจพรรณ (Mixed Deciduous Forest)

พบในระดับความสูงตั้งแต่ 400 - 600 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง มีพื้นที่ประมาณ 459.84 ตร.กม. หรือร้อยละ 21 ของพื้นที่ป่าทั้งหมด ประกอบด้วยไม้ยืนต้นผลัดใบ เช่น มะค่าโมง ประดู่ เลี่ยน ตะแบกแดง โมก ซ้อ พืชชั้นล่าง ได้แก่ ไผ่ และหญ้าต่างๆ ตามพื้นป่า จะมีหินโผล่อยู่ทั่วไป ในฤดูแล้ง ต้นไม้ส่วนใหญ่จะผลัดใบ ทำให้เรือนยอดของป่าดูโปร่งมาก จะมีไฟป่าลุกลามอยู่เสมอ แต่เมื่อเข้าฤดูฝน ต้นไม้จึงผลิใบเต็มต้นและป่าจะกลับเขียวชอุ่มเช่นเดิม

Lower_Montane_Rain_Forest.jpg

ป่าดิบเขาต่ำ (Lower Montane Rain Forest)

เป็นชนิดป่าที่สูงที่สุดของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ความสูงจากระดับทะเล 1,000 ม. ขึ้นไป พบบริเวณเขาเขียว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอากาศเย็น มีพื้นที่ประมาณ 177.89 ตร.กม. หรือร้อยละ 8.1 ของพื้นที่ป่าทั้งหมด พันธุ์ไม้ที่พบเป็นไม้เนื้ออ่อน เช่น พญาไม้ (Podocarpus nerifolius) ขุนไม้ (Nageia wallichiana) มะขามป้อมดง (Cephalotaxus griffthii) และไม้ก่อ (Fagaceae) ชนิดต่างๆ นอกจากนี้ยังพบ "โมลีสยาม" พืชถิ่นเดียวของไทย (Reevesia pubescens var. siamensis) ซึ่งขึ้นอยู่ในป่าประเภทนี้ด้วย

Tropical_Rain_Forest.jpg

ป่าดิบชื้น (Tropical Rain Forest)

ป่าดิบชื้นมีลักษณะโครงสร้างเป็นป่ารกทึบ อยู่ในระดับความสูง 400 - 1,000 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 94.88 ตร.กม. คิดเป็นร้อยละ 4.3 ของพื้นที่ป่าทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นไม้วงศ์ยาง-ตะเคียน มีลำต้นสูงใหญ่ ตั้งแต่ 30-50 เมตร ถัดลงมาเป็นไม้ต้นขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งสามารถขึ้นอยู่ใต้ร่มเงาของไม้ใหญ่ได้รวมทั้งต้นไม้ชนิดต่างๆ ในวงศ์หมากหรือปาล์ม พื้นล่างป่ารกทึมระเกะระกะไปด้วยไม้พุ่ม พืชล้มลุก ระกำ หวาย ไผ่ต่างๆ เถาวัลย์หลายชนิด ตามลำต้นไม้และกิ่งไม้มักจะมีพืชอิงอาศัย จำพวกเฟินและมอสขึ้นอยู่ทั่วไป

Lower_Montane_Rain.jpg

ทุ่งหญ้า (Grassland)

มีพื้นที่ประมาณ 82.93 ตร.กม. สภาพป่าเช่นนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำไร่เลื่อนลอยในอดีตก่อนที่จะมีการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ พืชส่วนใหญ่ในทุ่งหญ้าเป็นหญ้าคา มีหญ้าแขม หญ้าขนตาช้าง และหญ้าโขมงขึ้นแทรก นอกจากนี้ ยังมีผักกูดบางชนิดที่ชอบขึ้นตามบริเวณที่ถูกไฟไหม้เป็นประจำ จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า ภายหลังจากประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติกว่า 50 ปี ทุ่งหญ้าได้ฟื้นคืนสภาพเป็นป่าละเมาะ ซึ่งจะสามารถเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ได้ดังเดิมต่อไป

go to top