มรดกโลกภายใต้ชื่อ “พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่”
 

World_Heritage.jpg
 

 

พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ ประกอบด้วยพื้นที่คุ้มครอง (Protected Area) หรือ พื้นที่อนุรักษ์ ธรรมชาติจํานวน 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ รวมเนื้อที่ประมาณ 3,845,082.53 ไร่ หรือราว 6,152.13 ตารางกิโลเมตร

ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ “พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่” จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 29 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ที่เมืองเดอร์บัน สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ โดยขึ้นบัญชีเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติในลำดับที่ 184 ของโลก ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นตามเกณฑ์มาตรฐานในข้อ 10 คือ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายากหรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย แต่ยังคงสามารถดํารงชีวิตอยู่ได้รวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของพืช และสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ

p068_069.png

ผลจากการที่พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ได้รับการขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ทําให้ประเทศไทยโดยมีรัฐบาลไทยเป็นองค์กรหลักจะต้องดูแลผืนป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ มิให้เสื่อมโทรมหรือตกอยู่ในภาวะอันตรายจึงทําให้ต้องมีการเพิ่มมาตรการจัดการคุ้มครองผืนป่าแห่งนี้ให้อยู่อย่างยั่งยืน เนื่องจากเป็นพันธะกรณีตามอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ในการที่จะร่วมอนุรักษ์และปกป้องดูแลแหล่งมรดกโลก โดยอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรเอกชน ชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนประชาชนทั่วไป ตลอดจนสร้างโอกาสในการสำรวจและศึกษาวิจัยด้านต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น


ในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ มีบทบาทสำคัญต่อการอนุรักษ์ ความหลากหลายทางชีวภาพทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแหล่งสงวนระบบนิเวศ อันหลากหลายตั้งแต่ป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา และป่าดิบแล้ง ไปจนถึงป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง นอกจากนี้ยังมีทุ่งหญ้ากระจายตัวอยู่ทั่วไป รวมทั้งป่าบนเขาหินปูน และป่าริมลําห้วยลําธาร พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ จึงเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ จำนวนมากซึ่งหลายชนิดพันธุ์อยู่ในภาวะถูกคุกคามหรือถูกกดดันจากการพัฒนาของมนุษย์ในรูปแบบต่าง ๆ จากการสํารวจพบว่าประเทศไทยพบชนิดพันธุ์พืชทั้งหมด ราว 15,000 ชนิด โดยพบในพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ จํานวนไม่น้อยกว่า2,500ชนิด หรือประมาณ 1 ใน 6 ของชนิดพันธุ์ที่ปรากฏในประเทศ โดยมีชนิดพันธุ์ เฉพาะถิ่น 16 ชนิด มีสัตว์ป่ามากถึง 805 ชนิดส่วนหนึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม 112 ชนิด นก 392 ชนิด และสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก รวมกัน 205 ชนิด โดยมี 9 ชนิด ที่เป็นชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น ได้แก่ตะพาบหัวกบ หรือกราวเขียว หรือกริวดาวจิ้งจกหินเมืองกาญจนบุรี ตุ๊กแกเขาหินทราย กิ้งก่าภูวัว จิ้งเหลนด้วงตะวันตก จิ้งเหลนเรียวโคราช งูดินโคราช งูกินทากลายขวั้น และจระเข้น้ำจืด ในจำนวนสัตว์ป่าที่พบทั้งหมดมีหลายชนิดที่มีความสำคัญระดับโลก มี 3 ชนิด ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์(Endangered) ได้แก่ช้างป่า เสือโคร่ง และวัวแดง นอกจากนี้ยังพบว่า มีสัตว์ป่าที่มีสถานภาพมีแนว โน้มสูญพันธุ์ไปจากโลก (Vulnerable) อาศัยอยู่ในผืน ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ได้แก่ ลิงกัง ลิงเสนหรือลิงก้นแดง ชะนีมงกุฎ เม่นใหญ่ หมาไน หมีควาย เสือลายเมฆ กระทิง เลียงผา นกลุมพูแดง ไก่ฟ้าพญาลอ นกยูง และนกฟินฟุต


ในด้านการนันทนาการจากแนวผาสูงยาวต่อเชื่อมกันบริเวณด้านทิศตะวันตกของพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ นับเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ และสถานภูมิทัศน์ที่โดดเด่น โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ซึ่งสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อนและมีฝนตกชุก จึงพบว่ามีลําห้วยลําธาร และมีน้ำตกจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วบริเวณ เป็นสิ่งดึงดูดให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนนับล้านคนในแต่ละปี การเข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการเพื่อศึกษาหาความรู้ และการที่ได้มีโอกาสสัมผัสกับธรรมชาติอย่างแท้จริงจึงเป็นประสบการณ์อันทรงคุณค่าที่นักท่องเที่ยวได้รับจากการมาเยือนผืนป่าแห่งนี้ อีกทั้งการที่พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ เป็นแหล่งธรรมชาติอันสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ นักท่องเที่ยวจึงมีโอกาสพบเห็นชนิดพันธุ์สัตว์ป่า ที่สําคัญหรือหายาก หรือใกล้สูญพันธุ์อาทิ ช้างป่า เสือโคร่ง กระทิง วัวแดง ชะนีมือขาว ชะนีมงกุฎ นกกก นกแก๊ก รวมถึงจระเข้น้ำจืด ซึ่งคนทั่วไปเชื่อกันว่าได้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยแล้ว นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งที่พบชะนีมงกุฎและชะนีมือขาวอาศัยอยู่ร่วมกัน ซึ่งมีเพียงไม่กี่แห่งในโลก 
 

 

อุทยานมรดกแห่งอาเซียน 

asean_heritage_parks.jpg

 

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้รับการยกย่องว่าเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน (ASEAN Heritage Parks) ซึ่งได้รับการนิยามว่า เป็น “พื้นที่อนุรักษ์ที่มีความสำคัญสูงที่เป็นตัวแทนระบบนิเวศของภูมิภาค” อุทยานมรดกแห่งอาเซียนนั้น มาจากการเสนอชื่อโดยรัฐบาลของประเทศนั้นๆ และได้รับการประเมินจากประเทศสมาชิกอาเซียน โดยต้องมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ คือ มีความสมบูรณ์ทางนิเวศ มีความเป็นตัวแทนของภูมิภาค มีความเป็นธรรมชาติ มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์อย่างสูง มีขอบเขตทางกฎหมายอย่างชัดเจนในด้านความเชื่อมโยงระหว่างพรมแดน มีความเป็นเอกลักษณ์ มีความสำคัญทางชีววิทยาเชิงวัฒนธรรม มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

อุทยานมรดกแห่งอาเซียนเกิดขึ้นภายใต้กรอบความร่วมมือของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนในขณะนั้น ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย โดยได้มีการลงนามในปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยอุทยานมรดกแห่งอาเซียนและการอนุรักษ์ (ASEAN Declaration on Heritage Parks and Reserves) ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2527 ณ กรุงเทพมหานคร โดยมีข้อควรพิจารณาว่า พื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียน ต้องมีลักษณะที่เป็นหนึ่งเดียว มีความหลากหลาย มีคุณค่าโดดเด่นคู่ควรแก่การอนุรักษ์ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างสูงสุดจากประเทศสมาชิกว่า มีความสำคัญในฐานะพื้นที่อนุรักษ์สมควร ได้รับการยกย่อง ไปสู่ระดับภูมิภาคและระดับสากล โดยในครั้งนั้นได้มีการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ 11 แห่ง เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือกในประเทศไทย ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติตะรุเตา

 

go to top