ธรณีวิทยากับการก่อเกิดแหล่งธรรมชาติภายใน “เขาใหญ่”

" ธรรมชาติใช้เวลาหลายร้อยล้านปีในการสร้างสรรค์พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ผ่านกระบวนการต่าง ๆ ทางธรณีวิทยา ทั้งการสร้างและการกัดกร่อนทำลายอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับสมดุลของโลกตามวัฏจักร "

ภูมิลักษณ์ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน ซึ่งเกิดจากแนวหินภูเขาไฟและหินตะกอนที่ถูกกัดกร่อนและผุพังโดยน้ำกอปรกับการแตกหักภายในเนื้อหินจากผลของรอยเลื่อน รวมทั้งรอยแตก รอยแยกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นตัวเร่งให้หินผุกร่อนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น จากร่องรอยแตกเล็ก ๆ ในหินถูกพัฒนาจนกลายเป็นร่องทางน้ำหรือแม่น้ำ ขนาดใหญ่ในที่สุด พลังแห่งสายน้ำที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาลได้กัดกร่อนหินสองข้างลำน้ำให้เกิดเป็นหน้าผาสูงชัน เมื่อสายน้ำไหลลงสู่ที่ต่ำจึงเกิดเป็นน้ำตก และเมื่อไหลไปปะทะหินแข็ง เส้นทางน้ำก็จะเปลี่ยนเป็นไหลเลาะเลี้ยวกัดกร่อน ไปตามรอยแตก รอยแยก หรือรอยเลื่อนในหิน เหลือเพียงหินส่วนที่คงทนกว่าเกิดเป็นแก่งต่าง ๆ

 

waterfall_น้ำตกเหวนรก.png

น้ำตกเหวนรก

สูงตระหง่านหน้าผาชัน  พลังอัศจรรย์แห่งสายน้ำ
 

เบื้องหลังความสูงชันกว่าร้อยเมตรของน้ำตกเหวนรกนั้น  กระบวนการแสนอัศจรรย์ของพลังสายน้ำที่กัดเซาะหินผาอย่างรุนแรงและเนิ่นนานนับล้านปี ก่อเกิดเป็นภูมิลักษณ์หน้าผาสูงชันเกือบ 90 องศา สุสานแห่งช้างป่าอันเป็นที่มาของชื่อ “เหวนรก”

น้ำตกเหวนรกอยู่ทางทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในอดีตพื้นที่นี้เคยประกอบด้วย หินตะกอนภูเขาไฟวางตัวอยู่ด้านล่าง และมีหินตะกอนกลุ่มหินโคราชวางตัวปิดทับอยู่ด้านบน จนกระทั่งถึงต้นยุคพาลีโอจีน การยกตัวเกิดเป็นที่ราบสูงโคราช ส่งผลให้หินเกิดรอยแตก รอยแยก และรอยเลื่อน ทำให้หินกร่อนและผุพังได้ง่าย น้ำฝนและสายน้ำคลองท่าด่านทำหน้าที่กัดกร่อนชั้นหินตะกอนของกลุ่มหินโคราชจนแตกหัก หลุดร่วงไปตามกระแสน้ำ การกัดเซาะทางลึกทำให้เกิดขั้นหน้าผาสูงชันของน้ำตกเหวนรก เริ่มแรกไม่ได้อยู่ในตำแหน่งนี้ แต่กระแสน้ำได้กัดกร่อนหินให้พังทลายลง ทำให้หน้าผาถอยร่นเข้าไปทางต้นน้ำตามกาลเวลา ส่วนหินที่ถูกกัดเซาะพังไปแล้ว ก็จะหล่นลงในหุบเขาลึกที่อยู่เบื้องล่าง เกิดเป็นภูมิลักษณ์ที่สวยงามแสนมหัศจรรย์ ถอยร่นบนความสูงชัน

waterfall_น้ำตกเหวสุทัต.png

น้ำตกเหวสุวัต

จากเถ้าร้อนแห่งภูเขาไฟสู่น้ำตกตระหง่านงาม 

ทัศนียภาพของน้ำตกเหวสุวัตคือ ความตระการตาของสายน้ำตกที่พุ่งตกลงมาจากชะง่อนผา ผ่านหุบเวิ้งที่เว้าลึก ดุจม่านน้ำที่ไหลเป็นสายยาว พลังของสายน้ำที่หนักหน่วง รุนแรงได้ม้วนวนกัดเซาะหินผาให้เป็นแอ่งลึกอยู่ข้างใต้ ให้ความร่มเย็นชุ่มฉ่ำที่สัมผัสได้ จนยากที่จะเชื่อว่าที่แห่งนี้เคยร้อนระอุเป็นภูเขาไฟเมื่อหลายล้านปีก่อน

บริเวณน้ำตกเหวสุวัตเคยมีกลุ่มหินโคราชปิดทับอยู่บนหินภูเขาไฟเช่นเดียวกับที่น้ำตกเหวนรก แต่ผลของการกัดเซาะปีแล้วปีเล่าทำให้หินตะกอนกลุ่มหินโคราชถูกสายน้ำกร่อนจนทลายเปิดลึกลงไปถึงชั้นหินภูเขาไฟเบื้องล่าง นอกจากการกัดกร่อนด้วยแรงกระแทกของน้ำแล้ว สายน้ำยังได้ไหลม้วนเอาเศษตะกอนหิน กรวด ทรายเข้าไปกัดกร่อนหน้าผาหินใต้น้ำตกให้เป็นโพรงลึกเข้าไป นานวันผ่านไป ผาหินด้านบนก็จะบางจนหักลงมาในที่สุดผาน้ำตกก็จะถอยร่นขึ้นสู่ต้นน้ำเรื่อยๆ เกิดเป็นลักษณะน้ำตกเหวสุวัตในปัจจุบัน  ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า หินกรวดเหลี่ยมภูเขาไฟที่พบบริเวณน้ำตกเหวสุวัตนี้  มีการเรียงตัวตามขนาดของกรวดตามแรงโน้มถ่วงโดยเม็ดใหญ่กว่าอยู่ด้านล่างไล่ขึ้นไปสู่เม็ดละเอียดกว่าด้านบน เรียกว่า Graded bedding อันเกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ ที่เศษหินที่มีน้ำหนักมากจะตกลงมาก่อนตามด้วยพวกที่มีขนาดเล็กหรือน้ำหนักเบากว่า การตกทับถมเช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำ เมื่อตะกอนภูเขาไฟเหล่านี้เย็นตัวจึงกลายเป็นหินกรวดเหลี่ยมภูเขาไฟที่รักษารูปแบบการเรียงขนาดของเศษชิ้นภูเขาไฟในแต่ละชั้นของหินจากหยาบไปหาละเอียดสลับกันให้เราได้เห็นในปัจจุบัน

waterfall_ผากล้วยไม้.png

น้ำตกผากล้วยไม้

ลวดลายลาวาร้อน  สู่ความเยือกเย็นสงบกลางไพร 

ภายหลังฉากการระเบิดของภูเขาไฟเมื่อหลายล้านปีก่อน  ลาวาหนืดข้นไหลทะลักอย่างช้า ๆ จากปากปล่องไปทุกทิศทาง ความร้อนนับพันองศาได้เผามอดไหม้ทำลายทุกสิ่งที่ขวางกั้น เกินที่จะคาดคิดว่าความหนืดของหินเหลวร้อน เมื่อเย็นตัวลงจะเกิดเป็นลวดลายอ่อนช้อยงดงามดุจฝีแปรงของจิตรกรที่บรรจงแต่งแต้มวาดลงบนหินผา หรือแท้จริงแล้วธรรมชาติตั้งใจสร้างสรรค์งานศิลปะล้ำค่าให้มนุษย์ได้ชื่นชมกลางป่าใหญ่ 

น้ำตกผากล้วยไม้ เกิดขึ้นและมีพัฒนาการเช่นเดียวกับน้ำตกเหวสุวัต ต่างกันเพียงหินบริเวณน้ำตกผากล้วยไม้ได้เปลี่ยนจากหินกรวดเหลี่ยมภูเขาไฟเป็นหินภูเขาไฟชนิดไรโอไลต์ที่แสดงชั้นการไหลหลากของลาวา (Flow band) การกัดกร่อนทำลายของกระแสน้ำไปตามโครงสร้างรอยแตก รอยแยก และรอยการไหลของ ลาวาในเนื้อหิน กลับสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นภูมิลักษณ์ที่สวยงามของผาน้ำตก เกาะ แก่ง และแอ่งคุ้งน้ำกักเก็บความชุ่มชื้นให้แก่บริเวณและพืชพรรณโดยรอบ ดึงดูดผีเสื้อป่าฝูงใหญ่ลงเกาะดูดกินแร่ธาตุตามตะกอนทรายและโขดหิน  
 

waterfall_แก่งหินเพิง.png

แก่งหินเพิง

ประติมากรรมแห่งสายน้ำบนลานหิน 

แก่งหินเพิง คือ ประจักษ์พยานแห่งอำนาจของสายน้ำที่สรรค์สร้างตกแต่งให้พื้นที่ลานหินกว้างสุดสายตาเว้าแหว่ง บางแห่งเกิดเป็นหลุมกุมภลักษณ์ บางแห่งเป็นสะพานโค้งและน้ำตกเล็ก ๆ ความอัศจรรย์นี้เองที่ทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่า ธรรมชาติเก็บซ่อนสถานที่อันงดงามนี้ไว้ในผืนป่าเขาใหญ่นานเท่าใดก่อนที่จะมีใครมาค้นพบ

สถานที่ล่องแก่งอันลือชื่อแห่งลำน้ำใสใหญ่ มีลักษณะภูมิลักษณ์ที่เกิดจากการกัดกร่อนขั้นหินทรายหนาตามรอยแยกและตามระนาบชั้นหิน (Bedding plone) เกิดเป็นแก่งหินขนาดใหญ่ขวางกลางน้ำ ทางน้ำที่คับแคบลงส่งผลให้กระแสน้ำปริมาณมากและทรงพลังแห่งฤดูฝนไหลเชี่ยวกรากกัดเซาะหินให้แตกพังสลับกับการไหลเอื่อยเลาะเลี้ยวไปตามเกาะแก่งกลางน้ำในฤดูร้อนอยู่ชั่วนาตาปี โดยลักษะของแก่งหินเพิงจะเป็นชั้นหินทรายเนื้อหยาบขนาดใหญ่ การคัดขนาดของเม็ดตะกอนไม่ดี วางตัวในแนวตะวันออก-ตะวันตกมีมุมเท (Dip) น้อยไปทางทิศใต้ ขวางทางน้ำใสใหญ่ที่ไหลจากทางทิศเหนือลงไปทางทิศใต้ ภายในเนื้อหินมีรอยแตกรอยแยกหลายแนว กระแสน้ำแห่งฤดูกาลจะไหลกัดเซาะไปตามรอยแตกแยกให้หินแตกออกเป็นก้อนๆ หรือกัดเซาะเป็นร่องลึกเปลี่ยนแปลงความลาดเทและระดับของท้องน้ำ ทำให้บางช่วงของลำน้ำเกิดเป็นน้ำตกขนาดเล็กงดงาม พลังอันเหลือเฟือแห่งสายน้ำยังพัดพาเอากรวดทรายไปหมุนวนเสียดสี ครูดถูกับพื้นหินแข็งจนเกิดหลุมลึกลงไปในหินเป็นกุมภลักษณ์มากมาย ดังปรากฏให้เห็นทั่วไปบนผิวของเกาะ แก่งและพื้นท้องน้ำในฤดูน้ำน้อย เช่นเดียวกับชั้นเฉียงระดับ (Cross bedding) หลักฐานแสดงทิศทางของกระแสน้ำในอดีตที่จะเผยตัวให้เห็นบนชั้นหินแห่งแก่งหินเพิงที่โด่งดัง

Tips

กุมภลักษณ์ (Pot hole) เป็นผลงานแห่งธรรมชาติที่เกิดจากการกัดกร่อน โดยทางน้ำในฤดูน้ำหลาก กระแสน้ำไหลเชี่ยวจะพัดพาเอาตะกอนกรวดทรายมาหมุนวนเซาะหินจนเกิดเป็นหลุม และขัดถูจนมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เรียกว่ากุมภลักษณ์ หรือ "ลักษณะของหม้อ"

ในขณะเดียวกัน กรวดทรายทุกเม็ดที่หมุนวนอยู่ในกุมภลักษณ์ก็มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ โดยขนาดของกุมภลักษณ์ขึ้นอยู่กับปริมาณและขนาดของกรวดทรายที่อยู่ ในกุมภลักษณ์ และแรงของน้ำซึ่งเปลี่ยนแปลงทุกปี

viewpoint.jpg

จุดชมวิว กม. 30

แผนที่ประวัติศาสตร์แห่งทิวเขา

หากเดินทางขึ้นสู่เขาใหญ่ตามเส้นทางด้านอำเภอปากช่อง ถนนจะพาเลาะเลียบขึ้นลงไปตามป่าเขาจนถึง กม. 30 จุดชมวิวจุดแรกที่นักท่องเที่ยวมักจะแวะชื่นชมความงามของขุนเขาด้านทิศเหนือของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จากจุดชมวิวมองไปทางทิศเหนือ สามารถชมลักษณะภูมิประเทศ ความสูงต่ำของพื้นที่จริงเปรียบเทียบกับแผนที่ภูมิประเทศ ซึ่งได้จำลองลักษณะภูเขา หุบเขา ทางน้ำ ที่ราบ หรือลักษณะสัณฐาน อันเกิดจากหินต่างชนิดและต่างอายุกัน รวมทั้งสิ่งก่อสร้างโดยมนุษย์เอาไว้เป็นแผนที่สองมิติ

แนวเขาที่มองเห็นไกลสุดแนวสายตาเป็นลักษณะหน้าผา  มียอดเขาสูงแหลมตั้งชัน บางบริเวณเว้าแหว่ง บางบริเวณเห็นเป็นผาสีน้ำตาลคล้ายถ้ำเป็นแนวของเขาแผงม้า เขาผาแจง เขาวังหิน เขาถ้ำดิน ซึ่งเป็นเขาหินปูนยุคเพอร์เมียน (299 -251 ล้านปี) ถัดเข้ามาต่อเนื่องจนถึงบริเวณจุดชมวิว เป็นเทือกเขาหินภูเขาไฟยุคเพอร์โมไทรแอสซิก

viewpoint_จุดชมวิวผาเดียวดาย.png

จุดชมวิวผาเดียวดาย

มุมมองกว้างสุดสายตา กลางผืนป่าใหญ่ 


จุดชมวิวที่กว้างและสูงที่สุดของพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สถานที่ซึ่งเปิดให้เห็นมุมมองทางธรรมชาติ รูปร่างของทิวเขายอดราบซึ่งเกิดจากการกัดเซาะของทางน้ำ เป็นเสมือนการทำความเข้าใจบทเรียนหน้าใหม่ทางธรณีวิทยาของผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้

การยกตัวขึ้นเป็นภูเขาและถูกกัดกร่อนผุพังมาอย่างยาวนานตามยุคสมัยทางธรณีกาล สรรค์สร้างลานหินบนหน้าผาสูงชันนาม “ผาเดียวดาย” ลานหินทรายของหมวดหินพระวิหาร ซึ่งเนื้อหินประกอบด้วยเม็ดทรายสีขาวและน้ำตาลอ่อน  ขนาดของเม็ดทรายไล่เลี่ยกัน ชั้นหินหนาแสดงชั้นเฉียงระดับ เป็นหลักฐานการเปลี่ยนทิศทางของกระแสน้ำแห่งธารประสานสายครั้งอดีตอย่างชัดเจน การกัดเซาะของทางน้ำลงลึกตามความลาดชันพาเอาหินที่รองรับอยู่ส่วนล่างหลุดพังทลายลงเหลือเฉพาะชั้นหินบนสุดหนาประมาณ 1 เมตร ยื่นออกไปเหนือหุบเหวด้านล่างที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ ยากที่จะหยั่งถึงความลึกได้กระบวนการผุพังได้เปลี่ยนหินทรายเป็นเม็ดตะกอนทรายขาว และพัดพาเข้าสู่วัฏจักรของการทับถม เป็นหลักยึดให้ไม้ป่าหลายชนิดได้อาศัยเจริญเติบโตขึ้น สร้างความสวยงามเพิ่มเสน่ห์ให้แก่บริเวณหน้าผาอันเดียวดายแห่งนี้

go to top