พรรณไม้แห่งขุนเขา

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นผืนป่าใหญ่ที่อุดมไปด้วยสังคมพืชหลากหลายประเภท ส่งผลให้พื้นที่แห่งนี้มีความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพรรณสูงตามไปด้วย พันธุ์ไม้หลายชนิดมีความโดดเด่นน่าสนใจสำหรับการเดินทางเข้าไปศึกษาเรียนรู้ 
 

กฤษณา

ชื่อวิทยาศาสตร์  :  Aquilaria crassna Pierre ex Lecomte
วงศ์  : Thymelaeaceae

ไม้ต้นสูงได้ถึง 30 ม. ไม่ผลัดใบ ใบรูปรีหรือรูปไข่กลับ  แผ่นใบมีขนประปรายตามขอบใบและเส้นกลางใบออกเรียงสลับ ขอบจักฟันเลื่อยละเอียด รูปใบหอก กิ่งอ่อนและใบอ่อน มีขนเส้นไหมสีขาว ดอกสีขาว ไม่มีกลีบดอก ออกเป็นช่อเล็กๆ ช่อละ 4-6 ดอก  มีกลิ่นหอม ออกดอกในช่วงฤดูร้อน และกลายเป็นผลแก่ประมาณเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน ผลรูปรีเกือบกลม ยาว 2.5–3.5 ซม. มีขนประปราย น้ำมันที่สกัดได้จากเนื้อไม้ ถือเป็นหนึ่งในน้ำมันหอมระเหยที่มีราคาแพงที่สุดในโลก
 

บริเวณที่พบ

พบกระจายไม่มากนักในป่าดิบชื้นและป่าผลัดใบผสม มักพบขึ้นตามริมน้ำ เช่น เส้นทางศึกษาธรรมชาติเส้นที่ 1 (ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว-น้ำตกกองแก้ว), เส้นทางศึกษาธรรมชาติเส้นที่ 2 (น้ำตกผากล้วยไม้ - น้ำตกเหวสุวัต) และ เส้นทางที่ 6 (ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว - น้ำตกเหวสุวัต)

ยางเสียน

ชื่อวิทยาศาสตร์   :   Dipterocarpus gracilis Blume
วงศ์   :   Dipterocarpaceae

ไม้ต้น ตาดอกมีขนสีน้ำตาลอ่อนหนาแน่น หูใบรูปแถบ ยาว 5–8 ซม. ใบรูปรีหรือรูปไข่ มีเส้นแขนงบนใบสวยงาม ปลายแหลมสั้นหรือแหลมยาว ออกดอกเป็นช่อ ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ไม้ตระกูลยางที่ลำต้นสูงเด่นในเขตป่าดงดิบ เรือนยอดจึงปะทะแรงลมตลอดเวลา การขยายพันธุ์จึงอาศัยลม โดยลูกยางถูกออกแบบให้มีปีกที่เรียวยาวสำหรับหมุนลอยตามลม

บริเวณที่พบ

บริเวณป่าดิบแล้งค่อนข้างชื้น และป่าดิบชื้น สามารถพบได้ทุกเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ

หวายขม

ชื่อวิทยาศาสตร์  :  Calamus viminalis Willd.
วงศ์   :   Arecaceae

ไม้เถา ลาต้นมีขนาดปานกลาง ลาต้นสีเขียวแตกกอ ลาต้นและกาบใบมีหนาม กาบหุ้มลาต้นสีเขียว เข้ม เคลือบด้วยไขสีขาวบาง และมีหนามโดยรอบ ใบประกอบแบบขนนก ก้านใบมีหนาม ใบย่อยมี 75-90 ใบ เรียงตัวกันเป็นกระจุก แบบตรงกันข้าม กระจุกละ 5-8 ใบ รูปแถบเรียวยาว ปลายใบแหลม ขอบใบมีหนาม แหลมเล็กๆ มีอวัยวะที่ใช้เลื้อยเกาะ เป็นก้านยาว ๆ ยื่นออกมาจากจุดกาเนิดตรงส่วนบนของกาบหุ้มลาต้น และมีหนามโดยตลอด ดอกช่อดอกออกมาจากลาต้น ตรงส่วนที่มีกาบใบหุ้ม ผลค่อนข้างกลม เป็นเกล็ด ซ้อนทับกันเป็นชั้นๆ ผลอ่อนสีเขียวเมื่อแก่แล้วมีสีเหลืองขาว เนื้อในมีรสฝาด เมล็ดแข็ง ผิวขรุขระ หนึ่งผล มี 1-2 เมล็ด

บริเวณที่พบ

บริเวณป่าดิบแล้งที่ชุ่มชื้น

เลือดแรด

ชื่อวิทยาศาสตร์   :   Knema globularia (Lam.) Warb.
ชื่อวงศ์   :   Myristicaceae

เป็นไม้ต้น สูง 10–25 ม. เรือนยอดเป็นพุ่มทรงสูง เปลือกแตกเป็นสะเก็ด สีน้ำตาล หรือสีเทาเข้ม เปลือกชั้นในสีชมพูใบ เดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปใบหอก ถึงรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบแหลม ผิวใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีขาวนวล ดอก เล็ก สีเหลืองนวล ออกเป็นกระจุกตามกิ่งและตามง่ามใบ ผล ค่อนข้างกลม ถึงกลมรี เมื่อแก่สีส้ม แตกออกเป็น 2 ซีก มี 1 เมล็ด
 

บริเวณที่พบ

ป่าดิบชื้น

ตาเสือ

ชื่อวิทยาศาสตร์  :  Aphanamixis polystachya (Wall.) R. Parker
วงศ์  :  Meliaceae

ไม้ต้นขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ เรือนยอดแน่น ใบเป็นใบประกอบ ออกเวียนสลับ มีใบย่อยติดตรงข้ามเป็นคู่ 3-7 คู่ ดอกกลม สีออกเหลือง ขนาดเล็ก แยกเพศ ติดบนแกนยาว ตามง่ามกิ่งบนๆ ช่อดอกเพศผู้แตกกิ่งก้าน ช่อดอกเพศเมียไม่แตกกิ่งก้าน ผลกลม เมื่อแก่แตกออกเป็น 3 เสี่ยง มี 3 เมล็ด หรือบางเมล็ดฝ่อไป เมล็ดสีน้ำตาลเข้ม ปกคลุมด้วยเนื้อนุ่มสีแดงสด 

บริเวณที่พบ

ป่าดงดิบ จากที่ราบจนถึงที่สูง 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่อาจพบได้ในป่าเบญจพรรณด้วย

ทะโล้

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Schima wallichii (DC.) Korth.
วงศ์ : Theaceae

ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 35 ม. ไม่ผลัดใบ เรือนยอดแน่น ใบเดี่ยว ออกเวียนสลับ มีรูปร่างหลายแบบ ดอกมีก้านดอกออกเดี่ยวๆ หรืออยู่เป็นกลุ่มตามง่ามใบ กลีบดอกมี 5 กลีบ แยกกัน สีขาว เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก สีเหลืองถึงสีส้ม ผลแข็ง เมื่อแก่แตกออกเป็น 5 เสี่ยง เมล็ดเล็กมีปีก จำนวนมาก

บริเวณที่พบ

ป่าดิบชื้น

จำปีป่า

ชื่อวิทยาศาสตร์   :   Magnolia baillonii Pierre
วงศ์   :   Magnoliaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 35 ม. หูใบแนบติดก้านใบน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ใบรูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ปลายแหลมสั้น ๆ แผ่นใบด้านล่างมีขน ออกดอกเป็นช่อ ดอกมีกลิ่นหอม สีขาว เรียงหลายวง รูปใบหอกแคบ กลีบวงในสั้นกว่าวงนอก ผลรูปรีหรือรูปทรงกระบอก มีก้านสั้น ๆ ผลย่อยเชื่อมติดกัน แตกออก แกนกลางติดทน

บริเวณที่พบ

ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ความสูงถึงประมาณ 1300 เมตร

หวายแดง

ซื่อวิทยาศาสตร์   :  Renanthera coccinea Lour.
วงศ์   :   Orchidaceae

หวายแดง เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยหรือขึ้นตามชอกหิน พบทั่วไปบริเวณที่โล่งของป่าดิบแล้ง ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่พบหวายแดงขึ้นหนาแน่นบริเวณลานหินริมคำห้วยลำตะคอง ใกล้ๆ กับน้ำตกผากล้วยไม้อันเป็นที่มาของชื่อน้ำตกแห่งนี้

หวายแดงมีลำต้นยาว ใบรูปขอบขนาน กว้าง 1.5-3 ซม. ยาว 7-8 ซม. ปลายใบเว้า ดอกออกเป็นช่อ แตกแขนงจากซอกใบ ดอกสีแดงเข้ม ขนาดบานเต็มที่กว้าง 3.5 ซม. กลีบปากมีขนาดเล็ก ปลายกลีบเป็นติ่งแหลม

บริเวณที่พบ

บริเวณน้ำตกผากล้วยไม้

ช่วงเวลาที่แนะนำ : ออกดอกในช่วงฤดูแล้งราวเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน

สะเม็กขาว

ชื่อวิทยาศาสตร์  :  Agapetes bracteata Hook. f. ex C. B. Clarke
วงศ์   :  Ericaceae

สะเม็กขาวพืชถิ่นเดียวของไทย เป็นพุ่มไม้อิงอาศัย สูงได้ถึง 2 เมตร ลำต้นกลมหรือเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย มีขนตามปลายกิ่ง ก้านใบ ช่อดอก ก้านดอกและใบประดับ ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปขอบขนานยาวประมาณ 5 ซม. ปลายใบแหลมยาวหรือยาวคล้ายหาง แผ่นใบหนา ก้านใบยาว 0.3-0.4 ซม. ดอกออกเป็นช่อเชิงหลั่นตามชอกใบ ยาว 5-7 ซม. ดอกออกห่างๆ ก้านดอกยาว 0.5-1.5 ซม. ใบประดับ คล้ายใบรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 0.6-1.2 ซม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 5 กลีบ กลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม ยาว 0.2-0.3 ซม. กลีบดอกยาว 0.8-1.5 ซม. ติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นกลีบลึกประมาณกึ่งกลางกลีบ กลีบรูปใบหอก ปลายม้วนงอออก เกสรเพศผู้ 10 อัน ยื่นพ้นหลอดกลีบ อับเรณูติดกันล้อมรอบเกสรเพศเมีย ด้านหลังอับเรณู มีเดือย 2 เดือย ผลแบบมีเนื้อหลายเมล็ดกลม

บริเวณที่พบ

ขึ้นอยู่ตามคาคบไม้ในดิบเขาที่ความสูงตั้งแต่ 1,200 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง บริเวณเขาร่ม เขาแหลม และเขาเขียว

โมลีสยาม

ชื่อวิทยาศาสตร์  :  Reevesia pubescens var. siamensis (Craib) Anthony
วงศ์  :  Sterculiaceae

โมลีสยามเป็นไม้ถิ่นเดียวของประเทศไทย มีทรงต้นที่สวยงาม ดอกมีกลิ่นหอม ลำต้นสูง 5-12 เมตร มีกิ่งอ่อน ใบอ่อนและช่อดอกที่ปกคลุมด้วยขนนุ่ม ใบเดี่ยวเรียงสลับแผ่น ใบรูปไข่หรือรูปรี ขนาดกว้าง 2-3 ซม. ยาว 6-20 ซม. ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบมน ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ขอบใบเรียบ เส้นแขนงใบเชื่อมประสานกันก่อนถึงขอบใบ ก้านใบยาว 1-2 ซม. ดอกของโมลีสยามเป็นรูปหงระฆังสีขาวอมชมพู กว้างประมาณ 0.5 ซม. ยาว 0.5-0.8 ซม. ด้านนอกของดอกมีขนประปราย ผลเป็นรูปไข่กลับกว้าง 1.2-1.5 ซม. ยาว 2-4 ซม. เป็นพูตามยาว 5 พู สีเขียวอ่อนมีขนปกคลุม เนื้อผลแข็ง เมื่อแก่แตกระหว่างพู เมล็ดเล็กมีปีก

บริเวณที่พบ

บริเวณเขาเขียว

ช่วงเวลาที่แนะนำ : ออกดอกตลอดทั้งปี แต่จะออกดอกมากในฤดูฝน

เครือพูเงิน

ชื่อวิทยาศาสตร์  :  Argyreia mollis (Burm. f.) Choisy
วงศ์  :  Convolvulaceae

เครือพูเงินเป็นไม้เลื้อยเนื้อแข็ง ไม่มีมือเกาะอย่างไม้เถาวัลย์ทั่วไป ลำต้นสามารถเลื้อยได้ไกลถึง 10 เมตร กิ่งอ่อนมีขนสีขาวเงินปนสีน้ำตาลอ่อน เส้นยาวราบหนาแน่น  ใบรูปรีแกมขอบขนานปลายแหลม ผิวใบด้านบนมีขนประปราย ใต้ใบมีขนสีขาวเงินนุ่มคล้ายเส้นไหมหนาแน่น ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ 1-5 ดอก สีม่วงอ่อนหรือสีชมพู โคนกลีบสีขาว ปลายแผ่ติดกัน ด้านนอกของโคนดอกมีขนเป็นแฉก ขนาดดอก 3.5-4 ซม. ผลค่อนข้างกลม สีส้มอมแดง เมล็ดสีดำ มี 4 เมล็ด 

เครือพูเงิน เป็นพันธุ์ไม้ที่มีสรรพคุณทางสมุนไพรหลายด้าน สามารถนำทั้งต้นมาคั้นเอาน้ำใช้ทำเป็นยาหยอดตา รักษาอาการอักเสบ นำรากมาใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ แก้หอบ และเป็นยาบำรุงสตรีส่วนใบใช้เป็นยาพอกรักษาฝีได้อีกด้วย

ภาพโดยปรีชา การะเกตุ

บริเวณที่พบ

มักพบขึ้นตามป่ารุ่น ป่าละเมาะ ป่าเบญจพรรณ และตามสองข้างทางทั่วไป ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 
ตั้งแต่ระดับพื้นล่างไปจนถึงความสูง 1,000 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง

ช่วงเวลาที่แนะนำ : ออกดอกเดือนตุลาคม-ธันวาคม

เอื้องสีตาล

ชื่อวิทยาศาสตร์  Dendrobium heterocarpum Lindl. 
วงศ์ Orchidaceae 

เอื้องสีตาล เอื้องแซะดง หรือ เอื้องสีจุน เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ต้นเป็นลำกลม โคนและปลายสอบเล็กน้อย ยาว 15-30 ซม. ใบรูปหอก กว้าง 1.5-2.5 ซม. ยาว 10-16 ซม. ดอกออกเป็นช่อสั้นๆ ตามข้อ มี 2-5 ดอก บานเต็มที่กว้าง 4-5 ซม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีสีขาวนวลถึงน้ำตาลอมเหลือง กลีบปากสีเหลืองถึงน้ำตาลเข้มและมีเส้นสีน้ำตาลพาดตามยาว ดอกมีกลิ่นหอม

บริเวณที่พบ

พบตามป่าดิบที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป

ช่วงเวลาที่แนะนำ : เดือนธันวาคม - มีนาคม

ว่านแผ่นดินเย็นเขาใหญ่

ชื่อวิทยาศาสตร์  :  Nervilia khaoyaica Suddee (Watthana & S.W. Gale)
วงศ์  :  Nervilia

ว่านแผ่นดินเย็นเขาใหญ่ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ว่านพระฉิม เป็นกล้วยไม้ดินขึ้นอยู่บนเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลปานกลาง 733 เมตร ความสูงของต้นตั้งแต่หัวใต้ดินถึงช่อดอกประมาณ 9 เซนติเมตร ดอกมีกลีบเลี้ยงสีน้ำตาลอ่อนแกมเขียวไปจนถึงน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลแดง 5 กลีบ กลีบปากมีแถบสีเขียวหรือบางดอกมีสีเหลืองตรงกลางกลีบ และมีเส้นและจุดสีม่วงกระจายอยู่รอบๆ กลีบ ดอกใบมีลักษณะพิเศษคือเป็นรูปหัวใจ ทรงเหลี่ยม ยาว 4.8-6.7 เซนติเมตร กว้าง 5.5 6.8 เซนติเมตร บางต้นออกใบเป็นสีม่วง บางต้นใบเป็นสีเขียว

ภาพถ่ายโดย ดร.วรดล แจ่มจำรูญ

บริเวณที่พบ

พบขึ้นประปรายบริเวณป่าดิบชื้น ระหว่างเส้นทางไปน้ำตกผากล้วยไม้

ช่วงเวลาที่แนะนำ : ออกดอกประมาณเดือนมีนาคม ออกใบประมาณเดือนมีนาคม-กันยายน

หญ้าคางเลือยเขาใหญ่

ชื่อวิทยาศาสตร์  :  Scutellaria khaoyaiensis A. J. Paton 
วงศ์  :  Lamiaceae

เป็นไม้พืชล้มลุกชนิดใหม่ของโลก สูงประมาณ 20-40 เซนติเมตร ช่อดอกออกที่ปลายยอด ดอกออกตรงข้ามกัน กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร มีขนต่อม กลีบดอกโคนเชื่อมกันเป็นหลอดโค้งสีน้ำเงินเข้ม กลีบล่างมีแต้มสีขาวตรกลาง ยาวได้ถึง 1.2 เซนติเมตร ใบรูปรีหรือมีด ขนาด 4-6x2-3 เซนติเมตร ขอบใบหยักฟันเลื่อย ปลายใบแหลม ฐานใบรูปลิ่ม ใบเกลี้ยงและมีขนบ้างประปรายที่เส้นใบ ไม่มีต่อม ก้านใบยาว 2-4 เซนติเมตร เมล็ดสีน้ำตาล

ภาพถ่ายโดย ดร. สมราน สุดดี

บริเวณที่พบ

บริเวณเขาเขียว อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มักพบขึ้นตามที่ชื้นบนก้อนหินตามลำธาร

ช่วงเวลาที่แนะนำ : เดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ ออกดอกและเป็นผล

ดอกไม้หิน

ชื่อวิทยาศาสตร์  :  Polypleurum ubonense 
วงศ์  :  Podostemaceae

ดอกไม้หินมีลักษณะโดดเด่นอยู่ที่ชีพลักษณ์ของมันซึ่งขึ้นอยู่บนหินที่มีน้ำไหลเชี่ยว เช่น ลำธาร น้ำตก โดยทั่วไปดอกไม้หินจะจมอยู่ใต้น้ำ มีชีวิตอยู่ใต้สายน้ำในยามฝน แต่เมื่อหน้าแล้งมาถึงระดับน้ำลดลงจะมีบางส่วนโผล่พ้นน้ำขึ้นมา แต่เนื่องจากมีขนาดเล็กมากก็มักจะถูกมองข้ามไป

ดอกไม้หินที่พบในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นพืชชนิดใหม่ของโลกที่มีรายงาน เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี มีรากเป็นแผ่นแข็งเปราะและมีใบเป็นเกล็ดเล็ก ดอกสมบูรณ์เพศเล็กมาก ออกเดี่ยวๆ ที่ปลายยอด มีก้านดอกสั้น และอยู่ในกาบเล็กก่อน ที่จะบาน ดอกมีเพียงกลีบรวม 2 กลีบ เกสรเพศผู้ 2 อัน รังไข่ ติดเหนือวงกลีบ มี 2 ช่อง เจริญเป็นผลแบบแก่แตกมี 2 เสี่ยง 

ภาพถ่ายโดย ดร. สมราน สุดดี

บริเวณที่พบ

บริเวณหินใต้ลำธารลำตะคองในเส้นทางมุ่งสู่น้ำตกผากล้วยไม้ และบริเวณแก่งหินเพิง ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

เปราะหินเหลืองหรือเปราะเขาใหญ่

ชื่อวิทยาศาสตร์  :  Monolophus saxicola (K. Larsen) Veldkamp & Mood 
วงศ์  :  Zingiberaceae 

ไม้ล้มลุกขึ้นตามก้อนหินที่ชื้น อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า คำระบุชนิด ‘saxicola’ มาจากภาษาละตินคำว่า ‘saxum’ หมายถึงหิน หมายความว่าพืชชนิดนี้ชอบขึ้นบนหิน พืชในสกุล Caulokaempferia เดิม ปัจจุบันถูกแยกและจัดอยู่ในหลายสกุล เช่น เปราะภูเมี่ยง Boesenbergia alba (K. Larsen & R. M. Sm.) Mood & L. M. Princ ถูกจัดอยู่ในสกุล Boesenbergia กลุ่มที่มีดอกสีเหลืองจะถูกจัดอยู่ในสกุล Monolophus

go to top